พิธียกเสาเอกเสาโท อีกหนึ่งพิธีกรรมสำคัญและมีความหมายสำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่โบราณ สืบต่อกันมาตามความเชื่อ เพื่อเป็นการขอขมาแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ โดยในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเสาเอก-เสาโท และพิธียกเสาคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร พร้อมกับวิธีการจัดตั้งที่เหมาะสม เพื่อเสริมสิริมงคลต่อตัวเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย
พิธียกเสาเอก-เสาโท คืออะไร?
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ พิธียกเสาเอกเสาโท เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเสาเอก-เสาโทกันก่อน เสาเอกเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงของบ้านเรือน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากภยันตรายใด ๆ โดยเสาเอกเป็นเสาที่คอยรับน้ำหนักของบ้าน
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเสาเอกเป็นเสาที่ใช้สำหรับตอกลงไปให้จมดิน เนื่องจากเสาเอกเป็นเสาต้นแรกของการสร้างบ้าน เปรียบเสมือนการเริ่มต้นครอบครัว หากการเริ่มต้นเป็นไปด้วยดี ก็หมายถึงความราบรื่นในชีวิต ซึ่งเสาโทนั้นจะเป็นเสารองของเสาเอก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเสาเอก โดยเสาเอกมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเสาโทอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน
โดยในอดีต เสาเอกอยู่ในรูปลักษณ์ของเสาไม้ อันเนื่องมาจากในสมัยนั้นมีการก่อสร้างบ้านเรือนด้วยไม้เพียงอย่างเดียว จึงทำให้เสาเอกเป็นไม้เพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันรูปแบบและวัสดุการสร้างบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงส่งผลให้เสาเอกแปรเปลี่ยนเป็นเสาเหล็ก เสาปูน หรือเสาคอนกรีต เป็นต้น ขึ้นอยู่กับลักษณะบ้านของแต่ละคนมีการก่อตั้งบ้านด้วยวัสดุอะไร ซึ่งการลงเสาเอกสามารถใช้เสาวัสดุชนิดอื่น ๆ ได้ แต่กระนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนเสาโครงคร่าวก่อนเทปูนลงไป
พิธียกเสาเอก-เสาโทมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งตามความเชื่อของชาวไทยที่สืบต่อกันมา พิธียกเสาเอก-เสาโทเป็นพิธีที่ใช้ในการขอขมาแก่พระแม่ธรณีหรือเจ้าที่เจ้าทางที่เราไปรบกวนโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งพิธียกเสาเอก-เสาโทจะทำให้การก่อสร้างบ้านใหม่สำเร็จลุล่วงและปราศจากอุปสรรคได้ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้ง การทำพิธีเสาเอกยังช่วยค้ำจุนตัวบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลและความราบรื่นในการอยู่อาศัยนั่นเอง
ขั้นตอนในพิธีการลงเสาเอกเสาโท
พิธีลงเสาเอกเสาโทเป็นหนึ่งในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนและลำดับพิธีให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อเสริมสิริมงคล ซึ่งผู้ทำพิธีจะมีทั้งพราหมณ์และการทำพิธีโดยพระสงฆ์
การเตรียมเสาพร้อมวางสายสิญจน์
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับพิธีลงเสาคือ ‘เสาเอก’ โดยจำเป็นต้องเตรียมเสาที่จะใช้ในพิธีให้เรียบร้อยก่อนถึงวันพิธี โดยการนำหน่อกล้วย หน่ออ้อย และผ้าสามสีผูกติดกับเสาเอกให้เรียบร้อย ก่อนจะถือสายสิญจน์และยกเสาเอก
ซึ่งขั้นตอนนี้ควรให้พราหมณ์ลงเสาเอกเป็นผู้ทำ หรือหากไม่สามารถให้พราหมณ์เป็นผู้ดำเนินพิธีได้ ควรให้ผู้ใหญ่หรือเจ้าของบ้านเป็นผู้ดำเนินการ แต่อีกกรณีสามารถนิมนต์พระสงฆ์มาดำเนินพิธีได้ โดยการวางสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชาที่เตรียมไว้ ไปจนถึงบริเวณที่ตั้งของเสาเอกก็จะเป็นการเสร็จสิ้นในขั้นตอนนี้
เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา พร้อมเครื่องสักการะ
เจ้าของบ้านหรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานถึงความเป็นสิริมงคล เพื่อจะทำให้พิธีดำเนินไปอย่างราบรื่น จากนั้นก้มกราบที่โต๊ะสักการะ และขอพรให้เทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้อยู่อาศัยและให้การสร้างบ้านดำเนินไปด้วยความราบรื่น
วางผลไม้และแผ่นนาก
หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว เริ่มทำการตอกไม้มงคล 9 ชนิดลงไปในหลุมที่เตรียมไว้สำหรับเสาเอก พร้อมกับวาง แผ่นทอง นาก เงิน และเหรียญเงินลงไปในหลุมเสาเอกซึ่งเป็นหลุมเดียวกับที่ตอกไม้มงคล โดยในกรณีนิมนต์พระสงฆ์มา พระสงฆ์จะทำการพรมน้ำมนต์และโปรยทรายเสกลงไปในหลุมเสาเอก ซึ่งในเวลาเดียวกันพระสงฆ์จะทำการเจิมและปิดแผ่นทองที่เสาเอกไปด้วย
การยกเสาเอก
เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีลงเสาร่วมกันถือสายสิญจน์ และยกเสาเอกให้เรียบร้อย จากนั้นเจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้และแป้งหอมลงที่หลุมเสาเอก ซึ่งหลังจากเจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้เรียบร้อยแล้ว ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นพิธียกเสาเอกบ้าน
ทำพิธียกเสาเอก-เสาโทอย่างไรให้เสริมความเป็นสิริมงคล
ไม่เพียงแต่ขั้นตอนและลำดับพิธียกเสาเอกเสาโทที่สำคัญเท่านั้น การทำพิธีควรให้ความสำคัญกับด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อเสริมสิริมงคลให้มากยิ่งขึ้น โดยประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ๆ ดังนี้
✦ การเลือกฤกษ์ที่ดี
การเลือกวันที่เป็นฤกษ์ดีเหมาะสมกับการทำพิธียกเสาเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด โดยปกติแล้วคนไทยมักจะนิมนต์พระสงฆ์หรือพราหมณ์เป็นผู้เลือกฤกษ์ดีในการทำพิธีต่าง ๆ รวมทั้งพิธียกเสาเอก-เสาโทด้วยเช่นเดียวกัน แต่กระนั้นก็สามารถให้ซินแส พราหมณ์ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่วยเลือกให้ได้ อีกทั้งยังสามารถยึดตามปฏิทินจันทรคตินับแบบไทย โดยเลือกจากวันอธิบดีหรือวันธงชัยของแต่ละเดือนได้เช่นเดียวกัน
✦ เวลาก็มีความสำคัญ
นอกจากการเลือกวันที่ฤกษ์ดีที่จะทำพิธียกเสาเอก-เสาโทแล้ว เวลาก็เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งคนไทยมักนิยมเลือกเวลาที่มีเลข 9 โดยเฉพาะ เนื่องจากเลข 9 เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘ก้าว’ หมายถึงการก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านหน้าที่การงาน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่การยกเสาเอก-เสาโทมักจะทำกันในช่วงเวลา 9:09 น.
อย่างไรก็ตาม เวลาที่ดีและเหมาะสมไม่ได้มีเลข 9 เท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นหลักมากกว่า เนื่องจากบางคนหรือบางพื้นที่เชื่อเรื่องตัวเลขมงคลหรือเวลาแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ ดังนั้นแล้ว การเลือกเวลาที่ดีและเหมาะสม สามารถเสริมสิริมงคลได้
✦ การเตรียมของ
การจัดเตรียมของสำหรับการทำพิธี ไม่เฉพาะแค่พิธียกเสาเอก-เสาโทเท่านั้น แต่รวมไปถึงพิธีกรรมอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องจัดเตรียมของที่มีความสำคัญให้ถูกต้อง ซึ่งในพิธีนี้จะเรียกว่า ‘เครื่องบูชาฤกษ์หรือเครื่องสังเวยเทวดา’ อีกทั้งยังจำเป็นต้องใช้ของที่เป็นสิริมงคลด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ผ้าสามสี (หรือผ้าขาวม้า) สำหรับผูกเสาเอกและเสาโท
- หน่อกล้วยและหน่ออ้อย อย่างละ 1 หน่อ
- แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่น
- เหรียญทอง เงิน อย่างละ 9 เหรียญ
- ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำมนต์ และทรายเสก
- ไม้มงคล 9 ชนิด เช่น ขนุน, ชัยพฤกษ์, ทองหลาง, ไผ่สีสุก, ไม้กันเกรา, ราชพฤกษ์, ทรงบาดาล, พะยูง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนิมนต์พระมาทำพิธี เพื่อพรมน้ำมนต์และเจริญชัยมงคลคาถา จะต้องมีการเตรียมจตุปัจจัย ไทยธรรม ถวายพระสงฆ์อย่างน้อย 1 ชุด พร้อมเครื่องสักการะที่เหมาะสมเพื่อใช้ในพิธี
บทสรุป
การทำพิธียกเสาเอก-เสาโทเป็นความเชื่อของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขอขมาเพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปได้ด้วยดี รวมทั้งยังเป็นการขอให้เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยมีความร่มรื่น ไม่มีอุปสรรคหรืออันตรายเข้ามา รวมทั้งผู้ร่วมพิธีด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่มองหาออร์แกไนเซอร์ เพื่อทำพิธียกเสาเอก-เสาโท หรือพิธีบวงสรวงอื่น ๆ สามารถติดต่อ Sirimongkol Organizer ได้ ด้วยบริการมากมายที่พร้อมให้บริการลูกค้าที่ต้องการจัดทำพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างครอบคลุม หากใครสนใจ สามารถเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 098-278-9887